เพิ่มผลไม้อีก 9 รายการ ขึ้นบัญชีเฝ้าระวัง หลังพบนำสินค้าเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ส่งออก

ข่าววันนี้

เมื่อวันที่ 11 เม.ย.64 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับแจ้งข่าวจากกรมการค้าภายในว่ามีการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่า หรือบรรทุกสินค้าผลไม้ไม่เต็มตู้ ออกไปบรรจุผลไม้ของประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งออกไปจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยใช้ไทยเป็นฐานการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด จึงได้เพิ่มมาตรการคุมเข้ม โดยเพิ่มสินค้าผลไม้อีก 9 รายการ ในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ Form E เข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น และจะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทย

ผลไม้ 9 รายการ ได้แก่

  • ลำไยสด พิกัดศุลกากร 0810.90
  • มะพร้าว พิกัดฯ 0801
  • ขนุน พิกัดฯ 0810.90
  • น้อยหน่า พิกัดฯ 0810.90
  • สับปะรด พิกัดฯ 0804.30
  • มะม่วง พิกัดฯ 0804.50
  • กล้วย พิกัดฯ 0803.90
  • ชมพู่ พิกัดฯ 0810.90
  • เงาะ พิกัดฯ 0810.90

ซึ่งเป็นรายการที่เพิ่มขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ ได้กำหนดให้สินค้าผลไม้จำนวน 3 รายการ ได้แก่

  • มังคุดสด พิกัดฯ 0804.50
  • ทุเรียนสด พิกัดฯ 0810.60 และแช่แข็ง พิกัดฯ 0811.90
  • ส้มโอสดหรือแห้ง พิกัดฯ 0805.40 อยู่ในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังมาแล้ว

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ Form E ที่จะนำมาใช้กับสินค้าผลไม้ทั้ง 12 รายการ กำหนดให้ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองฯ Form E ต้องระบุข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้

ข้อความยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯ

  • วันที่ส่งออก
  • ด่านที่ส่งออกของไทย
  • ประเภทยานพาหนะ
  • ชื่อยานพาหนะ

ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่

  • หนังสือรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและผลิตถูกต้องตามหลักเกณฑ์การผลิตภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้ให้สิทธิ (หนังสือรับรองกรมฯ)
  • เอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงการได้มาซึ่งสินค้า ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ เช่น ใบเสร็จซื้อขาย เป็นต้น ทั้งนี้ ให้เริ่มใช้แนวปฏิบัติดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2564 เป็นต้นไป

นายกีรติกล่าวว่า การดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าผลไม้ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นในมาตรฐาน ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยในตลาดโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำผิด กรมฯ จะดำเนินการตามประกาศกรมฯ เรื่อง มาตรการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต่อผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2562 ข้อ 3 (2) (ง) โดยให้ผู้ส่งออกแสดงเอกสารหลักฐานการผลิต เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าทุกชนิด ก่อนยื่นขอหนังสือรับรองฯ ทุกประเภทที่ส่งออกไปยังทุกประเทศ พร้อมทั้งเพิกถอนหนังสือรับรองฯ หากผู้ส่งออกไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้

ปัจจุบัน สถิติการออกหนังสือรับรองฯ Form E สำหรับสินค้าผลไม้ ภายใต้พิกัดศุลกากรที่ 0801–0810 ในปี 2563 พบว่า มีจำนวน 79,699 ฉบับ น้ำหนักสุทธิรวม 1,525,939 ตัน โดยมีสินค้าผลไม้ที่มีการออกหนังสือรับรองฯ Form E ทั้งสิ้น 12 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มะพร้าว มังคุด ขนุน น้อยหน่า ส้มโอ สับปะรด มะม่วง กล้วย ชมพู่ และเงาะ ตามลำดับ

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/931986